รีวิว Google Pixel 6 หลังใช้งานมา 3 เดือน | สเปคดี ราคาโดนใจ ก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของ Pixel

เป็นเวลา 3 เดือนแล้วที่ได้ใช้เจ้า Google Pixel 6 สี Sorta Seafoam เครื่องนี้มา หลังจากที่ซอฟต์แวร์อยู่ในสถานะลูกผีลูกคนมาเป็นเวลากว่า 2 เดือนนับจากวันที่เริ่มวางจำหน่าย ในที่สุด Pixel 6 Series ก็ได้รับซอฟต์แวร์อัปเดตที่เสถียรจนสามารถใช้งานได้ในแบบที่ควรจะเป็นตอนช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังจากที่ได้ใช้ Pixel 6 แบบปกติสุขมาเป็นเวลา 1 เดือนเต็มก็คิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะได้ลงมือเขียน Long-term review สักที ออกตัวก่อนว่ารีวิวฉบับนี้จะไม่เขียนในรูปแบบที่ผมเคยเขียนลงในเว็บอื่น ๆ มาก่อนหน้านี้นะครับ แต่จะเขียนในเชิงบอกเล่ามากกว่าว่าตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ได้ใช้ Pixel 6 มานั้นรู้สึกยังไงบ้าง อาจจะไม่ได้มีภาพประกอบโดยละเอียดมากนักสำหรับรีวิวฉบับนี้ ถ้าพร้อมแล้วเราไปเริ่มกันเลยครับ

Google Pixel 6
Google Pixel 6 สี Sorta Seafoam ใส่เคสสี Light Rain

ทำไมถึงตัดสินใจซื้อ Google Pixel 6

ถึงแม้ว่าจะเป็นแอดมินเพจ Pixel Society แต่ Pixel ที่เคยใช้งานแบบจริง ๆ จัง ๆ มีแค่ Pixel 2 กับ Pixel 2 XL เท่านั้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของ Pixel ในช่วงที่ผ่านมายังไม่น่าประทับใจและดึงดูดให้ซื้อสักเท่าไหร่ ตอนที่ Pixel 2 เปิดตัวมานั้นเรียกได้ว่าเป็นมือถือหน้าตาธรรมดา ๆ ที่ดูว้าวมาก มีการเปลี่ยนแปลงจากรุ่นแรกมากพอสมควรและมีจุดเด่นเรื่องกล้องที่สามารถเอาชนะคู่แข่งทั้งหมดในเวลานั้นได้ ทำให้ Pixel 2 เป็น Pixel ที่ได้รับความนิยมมากและเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมได้มาทำเพจ Pixel Society อีกด้วย

พอมาในรุ่น Pixel 3 นั้นกลับมีการเปลี่ยนแปลงจาก Pixel 2 ที่น้อยมาก เหมือนนำ Pixel 2 มาอัปเกรดให้เข้ากับเทคโนโลยีในปีนั้นเฉย ๆ (แต่ในความคิดของผมมองว่า Pixel 3 คือ Pixel ที่มีความสมบูรณ์แบบในช่วงเวลาที่วางจำหน่ายมากที่สุด) จนกระทั่งมาถึง Pixel 4 ที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอกล้องหลังคู่เป็นครั้งแรกของ Pixel หน้าจอ 90 Hz ระบบปลดล็อคด้วยใบหน้า หรือเทคโนโลยีสุดล้ำอย่าง Soli radar แต่สุดท้ายแล้วภาพรวมของ Pixel 4 กลับยังไม่น่าประทับใจเท่าที่ควร เพราะในเวลานั้นผู้ผลิตรายอื่น ๆ ในตลาดได้พัฒนาสมาร์ทโฟนของตัวเองไปไกลแล้วจนจุดเด่นของ Pixel ที่เคยดีกว่าคู่แข่งในอดีตที่ผ่านมาไม่ใช่เรื่องที่น่าตื่นตาตื่นใจอีกต่อไป

ในปี 2020 Google พยายามที่จะเปิดตัวสมาร์ทโฟนที่ใช้ชิปเซ็ตที่ Google พัฒนาขึ้นเอง แต่น่าเสียดายที่โลกเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 และปัญหาชิปขาดแคลน หรืออาจจะมีปัญหาภายในอื่นที่เรา ๆ ไม่อาจทราบได้ สุดท้ายแล้ว Pixel 5 ที่ขับเคลื่อนด้วยชิปเซ็ตที่ Google พัฒนาขึ้นเองก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน เรือธงของ Google ที่ปกติแล้วมักจะมาพร้อมกับชิป Snapdragon 8 Series กลับมาพร้อมชิปเซ็ตระดับกลางค่อนไปทางบนอย่าง Snapdragon 765G แทน และจากรุ่นก่อนหน้าที่มาพร้อมกับกล้อง Wide + Tele ใน Pixel 5 กลับตัดกล้อง Tele ออกไปและใส่กล้อง Ultrawide เข้ามาแทน เท่านั้นยังไม่พอ เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เคยถูกนำเสนอใน Pixel 4 Series รวมถึงรุ่นจอใหญ่ของ Pixel อย่างรุ่น XL ก็ไม่ได้ไปต่อเช่นกัน ถึงแม้ว่า Pixel 5 จะเป็นสมาร์ทโฟนที่ดีมาก ๆ รุ่นนึงและมอบประสบการณ์การใช้งานที่น่าประทับใจแม้ว่าจะไม่ได้ใช้ชิประดับเรือธงเหมือนรุ่นก่อน ๆ แต่การเปลี่ยนแปลงจาก Pixel 4 มา Pixel 5 ที่ดูขาดความต่อเนื่องของเทคโนโลยีนั้นก็ทำให้อดทำให้ตั้งคำถามไม่ได้ว่าแนวทางของ Google Pixel ในอนาคตจะเป็นอย่างไรกันแน่

Google Pixel 5
Google Pixel 5

Google Pixel กลับมาเป็นที่น่าสนใจอีกครั้งเมื่อ Google เผย Teaser ของ Pixel 6 และ Pixel 6 Pro ออกมา นับเป็นในรอบหลายปีที่ชื่อ Pixel กลับมาเรียกเสียงฮือฮาได้อีกครั้ง Google Pixel 6 Series ถูกดีไซน์รูปลักษณ์ภายนอกใหม่ทั้งหมด (แต่ก็มีกลิ่นอายของบรรพบุรุษอย่าง Nexus 6P) ใช้ชิปเซ็ต Google Tensor ที่ Google ซุ่มพัฒนามาอย่างยาวนาน รวมไปถึงยกเครื่องฮาร์ดแวร์ของกล้องใหม่ทั้งหมด แม้ว่าข้อมูลของ Pixel 6 จะถูกมือดีนำออกมาเผยแพร่ก่อนหน้าวันเปิดตัวจนเกือบหมดแล้ว แต่ในวันเปิดตัว Google ก็ยังสามารถนำเสนอออกมาได้น่าสนใจและทำราคาในรุ่นเริ่มต้นได้ดีมากจนตลาดแตก ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้ #TeamPixel ที่ไม่ได้ซื้อรุ่นใหม่มาเป็นเวลานานหรือหันไปใช้ค่ายอื่นแล้ว รวมถึงผู้ที่ไม่เคยใช้ Pixel มาก่อนต่างให้ความสนใจใน Pixel 6 เป็นอย่างมาก จนทำให้ชุมชนของผู้ใช้ Google Pixel กลับมาคึกคักอีกครั้ง

รวมถึงผมด้วยเช่นกัน ที่คิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะเปลี่ยนจาก Pixel 2 มาเป็น Pixel 6 สักที

รีวิว Google Pixel 6 หลังใช้งานมา 3 เดือน | สเปคดี ราคาโดนใจ ก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของ Pixel 9

ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เขียนรีวิวมานานแต่ก็ยังแก้นิสัยที่ชอบเกริ่นนำยาว ๆ ไม่หายสักที เอาเป็นว่าเรามาเข้าเรื่องจริง ๆ กันดีกว่าครับ

Pixel Society

เชื่อว่าคนที่เข้ามาอ่านคงทราบสเปคของ Pixel 6 อยู่บ้างแล้ว แต่ถ้าใครที่ยังไม่ทราบหรืออยากดูอีกรอบ สามารถดูสเปคของ Pixel 6 ได้ที่นี่เลย

What’s in the box

ต้องบอกว่าเป็นเรื่องปกติของสมาร์ทโฟนในยุคนี้ไปแล้วที่ผู้ผลิตจะไม่ให้อแดปเตอร์มาให้ในกล่อง ซึ่งจะด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อมหรืออะไรก็แล้วแต่ เชื่อว่าทุกคนคงรู้อยู่แก่ใจว่านี่คือการลดต้นทุนในยุคที่ผู้ผลิตต้องลงทุนมากขึ้นกับเทคโนโลยี 5G แต่สำหรับ Google แล้วไม่ได้ลดต้นทุนแค่การไม่ให้อแดปเตอร์มาเท่านั้น เราจะสามารถสังเกตได้ถึงความลดต้นทุนตั้งแต่ตอนแกะกล่องออกมากันเลยทีเดียว ถึงจะผ่านมา 3 เดือนแล้วแต่ก็ยังเคือง Google ไม่หายตรงที่ไม่ยอมให้ถาดรองเครื่องมาด้วย ทันทีที่แกะกล่องออกมานั้นจะเห็น Pixel 6 วางคว่ำหน้าอยู่บนอุปกรณ์และคู่มือตามในภาพแบบไม่มีอะไรมารองรับทั้งสิ้น

สำหรับอุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องก็จะประกอบด้วย

  • สายเคเบิล USB-C to USB-C ความยาว 1 เมตร (USB 2.0)
  • คู่มือการใช้งาน
  • อแดปเตอร์สำหรับถ่ายโอนข้อมูลจากสมาร์ทโฟนเครื่องอื่น
  • เข็มสำหรับเปิดถาดใส่ซิม
Unbox Google Pixel 6

ดีไซน์แบบใหม่ แต่ยังคงกลิ่นอายของวันวาน

ถ้าใครได้อ่านที่ผมเล่ามาข้างต้นว่าทำไมถึงซื้อ Pixel 6 คงจะเห็นผมเล่าไปแล้วว่าดีไซน์ของ Pixel 6 นั้นทำให้นึกถึงบรรพบุรุษอย่าง Nexus 6P แต่ที่ผมจั่วหัวเรื่องดีไซน์มาแบบนี้ไม่ใช่แค่ประเด็นนั้นเพียงอย่างเดียว ดีไซน์ของ Pixel 6 นั้นยังคงแนวทางของ Google Pixel รุ่นที่ผ่านมาเอาไว้อย่างไม่ผิดเพี้ยนแม้ว่ารูปลักษณ์ภายนอกจะเปลี่ยนแปลงไปมากก็ตาม ดีไซน์ที่เรียบง่าย ขอบจอที่ไม่บางมากนัก ผิวสัมผัสของวัสดุบริเวณขอบเครื่อง สีสันของฝาหลัง ฯลฯ ทั้งหมดนี้คือดีไซน์ของ Pixel ในแบบที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี จะมีสิ่งที่มีในรุ่นก่อนหน้าแต่หายไปในรุ่นนี้ก็คือปุ่ม Power ที่มีสีสัน

งานประกอบของตัวเครื่องก็ถือว่าดีตามมาตรฐานของ Google ตัวเครื่องดูแข็งแรงดี ไม่มีอะไรน่าห่วง ข้อสังเกตอย่างนึงที่สัมผัสได้ชัดในส่วนของดีไซน์คือปุ่ม Power และ Volume จะมีความขยับได้เล็กน้อยและส่งเสียง “คลิก” เวลากด แต่ตลอดระยะเวลาที่ใช้งานมาก็ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด

รีวิว Google Pixel 6 หลังใช้งานมา 3 เดือน | สเปคดี ราคาโดนใจ ก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของ Pixel 15

มาพูดถึงเรื่องที่จับต้องไม่ได้กันบ้าง ในความรู้สึกของผม Pixel 6 ไม่ได้เป็นสมาร์ทโฟนที่ดีไซน์สวยงามอะไรขนาดนั้น แต่ถ้าพูดถึงความ Unique ก็ต้องบอกว่านี่เป็นสมาร์ทโฟนที่มีด้านหลังเด่นมาก ในยุคที่สมาร์ทโฟนหลายยี่ห้อมีการออกแบบตามกันและดีไซน์ไปในทิศทางเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ Camera bar ของ Pixel 6 นั้นทำให้เครื่องดูโดดเด่นและประกาศให้สายตาของคนที่ได้เห็นรับรู้ว่าคนคนนี้กำลังใช้ Pixel 6 อยู่ (จนถึงขั้นเป็นข่าวมาแล้ว) และไม่ใช่ว่าจะมีข้อดีแค่ทำให้ตัวเครื่องดูโดดเด่นเท่านั้น ดีไซน์ของ Camera bar ทำให้ตัวเครื่องมีความสมมาตร (ถ้าไม่รวมในส่วนของปุ่มข้างเครื่อง) ถ้าหากเราใช้งานในขณะที่วางไว้กับพื้นผิวเรียบ ๆ ก็จะไม่ทำให้ตัวเครื่องกระดกไปมา

หน้าจอที่ถูกดาวน์เกรด แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ดี

ถึงแม้ว่าสเปคโดยรวมของหน้าจอ Pixel 6 จะดูปกติตามแบบที่ควรจะเป็นของสมาร์ทโฟนสมัยนี้ แต่ถ้าหากเราทราบข้อมูลแบบละเอียดแล้วจะพบว่านี่เป็นครั้งแรกที่ Google Pixel รุ่นเรือธงหันกลับไปใช้หน้าจอแบบ Rigid OLED หลังจากที่ใช้ครั้งสุดท้ายใน Pixel 2 และนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ Google สามารถกดราคา Pixel 6 ให้ต่ำกว่า $600 ได้

รีวิว Google Pixel 6 หลังใช้งานมา 3 เดือน | สเปคดี ราคาโดนใจ ก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของ Pixel 17

อธิบายความแตกต่างระหว่าง Rigid OLED กับ Flexible OLED แบบคร่าว ๆ Rigid OLED​ จะ​ใช้วัสดุของ Backplane เป็นแก้ว​ ไม่สามารถงอ​ได้​ มีความหนา​กว่า ส่วนแสดงผลจะอยู่ลึกลงไปจากกระจกปิดหน้าจอ ผลิตได้ง่าย ส่วน Flexible OLED จะ​​ใช้วัสดุของ Backplane เป็น​พลาสติก​ สามารถ​บิดงอ​ได้ มีความบาง​กว่า ส่วนแสดงผลจะอยู่ใกล้กับกระจกปิดหน้าจอ เมื่อ​ก่อนจอ Flexible OLED จะ​มี​ปัญหา​หลัก ๆ คือผลิต​ยาก​และ​จอเบิร์น​ง่าย แต่สำหรับสมาร์ทโฟนเรือธงในยุค​นี้​คือ​ใช้​จอแบบ​ Flexible OLED ​กัน​หมด​แล้ว (ขออนุญาตยืมรูปภาพจาก photonics.com มาประกอบการอธิบาย)

ส่วนตัวผมเองเป็นคนที่ค่อนข้างซีเรียสกับเรื่องหน้าจอมากกว่าปัจจัยอื่น ๆ เวลาเลือกซื้อสมาร์ทโฟน คือไม่ได้เชี่ยวชาญถึงขั้นที่มองออกว่าสีหน้าจอตรงขนาดไหนเมื่อเทียบกับมาตรฐานต่าง ๆ แต่เวลาใช้งานก็จะรู้เป็นการส่วนตัวว่าหน้าจอแบบนี้คือโอเคหรือไม่โอเคโดยอาศัยประสบการณ์จากการได้สัมผัสสมาร์ทโฟนเรือธงมาหลาย ๆ รุ่น สำหรับ Pixel 6 นั้นผมมองว่าเรื่องความคมชัดกับเรื่องสีสันจัดว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ก็คือใช้ดู Netflix, Disney+, YouTube หรือจะเล่นเกมก็ไม่ได้รู้สึกว่าหงุดหงิดอะไร

แต่ด้วยความที่เป็น Rigid OLED ก็จะมีข้อจำกัดเวลามองหน้าจอในมุมที่เอียงจากแนวตั้งฉากกับหน้าจอ จะเห็นได้ว่าหน้าจอมีการหักเหของแสงชัดเจน มีความไม่สม่ำเสมอของสี มีสีรุ้งวิ่งเป็นริ้ว ๆ เนื่องจากวัสดุที่ใช้ทำจอ Rigid OLED เป็นแก้วตามที่ได้อธิบายไปข้างต้น ซึ่งความหนาของแก้วทำให้แสงเกิดการหักเหเยอะนั่นเอง

สำหรับประเด็นที่ว่านั้นผมยังไม่ได้ซีเรียสมากมายนัก เพราะปกติแล้วเวลาใช้งานก็จะมองทำมุมกับหน้าจอตรง ๆ อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เป็นจุดอ่อนของหน้าจอของ Pixel 6 อย่างชัดเจนก็มีด้วยกันอยู่ 2 ประเด็นคือหน้าจอไม่ค่อยสู้แสงมากนักเวลาใช้งานกลางแจ้ง (แต่ก็ยังพอดูออกอยู่ว่าบนจอมีอะไรบ้าง ไม่ได้แย่ถึงขั้นมองไม่เห็นอะไรเลย) กับอีกประเด็นก็คือจอ Rigid OLED ใช้วัสดุภายในที่มีความดำไม่เท่ากับ Flexible OLED ถ้าจับจอ 2 ชนิดนี้มาวางคู่กันแล้วเปิดภาพสีดำหรือปิดหน้าจอจะเห็นได้ว่า Rigid OLED จะไม่มืดสนิทเท่ากับ Flexible OLED ทำให้สมาร์ทโฟนที่ใช้จอแบบ Rigid OLED มีคอนทราสต์ที่ต่ำกว่า

รีวิว Google Pixel 6 หลังใช้งานมา 3 เดือน | สเปคดี ราคาโดนใจ ก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของ Pixel 33
จะเห็นได้ชัดว่าส่วนที่เป็นหน้าจอกับขอบเครื่องมีสีที่ต่างกันแบบชัดเจน

สรุปเรื่องจอในภาพรวมก็คือไม่ได้ดีถึงขั้นสมาร์ทโฟนตัวแพงสุดของแต่ละค่ายเนื่องจากติดข้อจำกัดของหน้าจอที่มีต้นทุนถูกกว่า (แหงสิ เพราะนี่คือสมาร์ทโฟนราคา $599 นี่!) แต่ก็ยังจัดว่าคุณภาพดีสมกับราคาที่จ่ายไป อย่าลืมว่า Pixel 6 เปิดราคามาถูกกว่า Pixel 3 ที่เป็นจอ Flexible OLED ถึง $200 และถ้าหากไม่ได้มีสมาร์ทโฟนที่หน้าจอดีกว่ามาวางเปรียบเทียบคุณก็จะไม่ได้รู้สึกว่าจอของ Pixel 6 ดูแย่แต่อย่างใด ส่วนเรื่อง Refresh rate ที่ 90 Hz นั้นจัดว่าเหลือ ๆ ครับ ในส่วนนี้จะมีหรือไม่มีก็ไม่ได้แคร์ด้วยซ้ำ ส่วนความละเอียดจอที่ Full HD+ ก็ถือว่าไม่ได้แย่อะไร ยังอยู่ในมาตรฐานของสมาร์ทโฟนช่วงราคานี้อยู่

อันนี้เสริมให้จากด้านบนเนื่องจากไม่ได้มาจากประสบการณ์ตรงของตัวเอง เว็บไซต์ xda-developers.com ได้ให้ความเห็นไว้ว่าจอของ Pixel 6 สว่างและคมชัดกว่า Pixel 5 แม้ว่าจะมี Pixel density ต่ำกว่า ก็คือ Google พยายามปรับจูนหน้าจอให้ดีที่สุดเท่าที่ต้นทุนจะเอื้ออำนวยนั่นแหละนะ

Pixel Society

Material UI ปรับแต่งใดหลากหลายให้เข้ากับสไตล์ของตัวเอง

ปกติแล้ว UI ของ Google Pixel นั้นมักจะดูธรรมดา ๆ และปรับแต่งอะไรไม่ได้มากนัก แต่การมาของ Android 12 และ Material UI นั้นช่วยยกระดับความน่าใช้ของ Pixel 6 ขึ้นมาก ทั้งดีไซน์ของ UI ในส่วนต่าง ๆ, ไอคอน, Widget และแอนิเมชันนั้นถือว่าสวยงามและให้ความรู้สึกที่พรีเมี่ยมไม่แพ้ใคร ระบบ Theme icons ที่ช่วยทำให้สีสันของไอคอนและ Widget ไปในทิศทางเดียวกับ Wallpaper ที่ตั้งไว้ก็ทำออกมาได้ดีมากแม้ว่าจะยังไม่รองรับแอปพลิเคชันทั้งหมดก็ตาม โดยรวมแล้วผมก็ค่อนข้างโอเคกับทุกอย่าง โดยเฉพาะดีไซน์ Widget ของแอปในเครือ Google ที่ปรับแต่งรูปร่างและขนาดได้หลากหลายรูปแบบมาก

แต่ที่รู้สึกขัดตาจนทำให้ชื่นชมได้ไม่ 100% ก็คือในส่วนของ Tile ในหน้า Quick settings ที่มีขนาดใหญ่เทอะทะและใช้งานยากกว่าที่ผ่านมา

รีวิว Google Pixel 6 หลังใช้งานมา 3 เดือน | สเปคดี ราคาโดนใจ ก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของ Pixel 41

จุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ประทับใจแต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้งานเท่าไหร่ก็คือ Wallpaper ใน Pixel รุ่นก่อน ๆ ยังกลับมาให้เราเลือกใช้ด้วย แม้ว่าจะกลับมาไม่หมดทุกอันแต่อันที่เด่น ๆ และเก่าแก่แบบที่ใช้ในสมัย Nexus ก็ยังกลับมาให้เราได้หายคิดถึง และ Wallpaper บางหมวดหมู่ก็มีอัปเดตเพิ่มให้เรื่อย ๆ ด้วย

รีวิว Google Pixel 6 หลังใช้งานมา 3 เดือน | สเปคดี ราคาโดนใจ ก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของ Pixel 43

ประสบการณ์ใช้งานลื่นไหล ชิปใหม่เร็วแรง แต่ยังไม่สมบูรณ์แบบ

ถึงแม้ว่า Android 12 จะมีการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็มาพร้อมกับบั๊กที่ใหญ่ยิ่งเช่นกัน ในช่วง 2 เดือนแรกหลังจากการวางจำหน่ายนั้น Pixel 6 มาพร้อมกับบั๊กจำนวนมหาศาลและซอฟต์แวร์อัปเดตที่ล่าช้ากว่ารุ่นพี่ แถมซอฟต์แวร์อัปเดตเดือนธันวาคมยังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อผู้ใช้งานบางภูมิภาคด้วย ผมเองก็เป็นผู้ใช้งานที่เจอบั๊กเช่นกันโดยจะเป็นในเรื่องของ Themed icons ที่เปลี่ยนสีไปมาเองกับ System UI หยุดทำงานซะส่วนใหญ่ ซึ่งยังถือว่าไม่ใช่บั๊กที่รุนแรงมากนัก แต่ก็ทำให้รู้สึกว่า Google Pixel ที่เคยขึ้นชื่อว่าความลื่นไหลและเสถียรนั้นดูเหมือนว่าจะต้องตัดอย่างหลังออกซะแล้ว

Google Tensor

แต่ถ้ามองในมุมที่ว่านี่เป็นครั้งแรกที่ Google หันมาทำชิปในสมาร์ทโฟนเป็นของตัวเองแทนที่จะใช้ชิปจาก Qualcomm นั้นก็ถือว่าเข้าใจได้กับปัญหาที่เกิดขึ้น ก่อนหน้านี้ผมแอบคิดว่าเจ้าชิป Google Tensor จะมีปัญหาเยอะกว่านี้ด้วยซ้ำ แต่กลับกลายเป็นว่าเจอบั๊กจุกจิกที่แก้แล้วจบซะมากกว่า (และบั๊กบางส่วนก็น่าจะมาจากตัว Android 12 เองด้วยซ้ำ) ยังไม่เจอปัญหาที่ทำให้ขัดใจในระยะยาวแต่อย่างใด ถ้าว่ากันแบบไม่อวยเลยคือชิป Google Tensor นั้นใช้งานได้ดีไม่ต่างจากชิปของสมาร์ทโฟนเรือธงทั่ว ๆ ไปเลยถึงแม้ว่าตัวเลข Benchmark จะสู้ใครไม่ได้เลยก็ตาม สำหรับใครที่เน้นการใช้งานทั่วไป, การถ่ายภาพ, ถ่ายวิดีโอ, การแต่งรูปและ Export รูปภาพด้วยแอปพลิเคชัน Lightroom, การใช้ฟังก์ชัน Voice Recognition หรือการใช้แอปพลิเคชันที่เน้นประมวลผล AI ชิป Google Tensor สามารถตอบสนองการใช้งานด้านต่าง ๆ ที่ว่ามาได้อย่างดีเยี่ยม

รีวิว Google Pixel 6 หลังใช้งานมา 3 เดือน | สเปคดี ราคาโดนใจ ก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของ Pixel 46

สำหรับเรื่องการเล่นเกมนั้น ถ้าเป็นเกมที่ได้รับการ Optimize มาสำหรับ Pixel 6 ก็สามารถเล่นได้ดีเช่นกัน อย่างเช่น League of Legends: Wild Rift นั้นสามารถปรับกราฟิกสุดแล้วเล่นได้ลื่นไหลดี เล่นไปราว ๆ 1 ชั่วโมงแบตลดไปประมาณ 10% แถมเครื่องไม่ได้มีอาการร้อนให้สัมผัสได้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า Wild Rift จะเป็นหนึ่งในเกมที่ได้รับการ Optimize มาให้เล่นบน Pixel 6 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ Pixel 6 เองยังไม่สามารถเล่นเกมนี้ที่ 90 FPS ได้แต่อย่างใด ในขณะที่ Pixel 5 นั้นสามารถเล่นได้ที่ 90 FPS และก็เป็นเรื่องน่าแปลกที่เกมไม่ได้กินสเปคมากอย่าง 8 Ball Pool ซึ่งเป็นหนึ่งในเกมที่ Optimize มาให้เล่นบน Pixel 6 กลับเล่นที่ 90 FPS ได้ซะอย่างนั้น

รีวิว Google Pixel 6 หลังใช้งานมา 3 เดือน | สเปคดี ราคาโดนใจ ก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของ Pixel 48

แต่ถ้าหากเป็นเกมที่ไม่ได้ถูก Optimize มาสำหรับ Pixel 6 ก็จะมีบางเกมที่ไม่สามารถดึงประสิทธิภาพสูงสุดของชิปออกมาได้ อย่างเช่นเกม PUBG Mobile ทั้งเวอร์ชันดั้งเดิมและ New State จะไม่สามารถเลือกกราฟิกสูงสุดในบางหัวข้อเนื่องจากตัวเครื่องไม่รองรับ และ FPS ของเกมก็ถูกล็อคไม่ให้เกิน 40 FPS

รีวิว Google Pixel 6 หลังใช้งานมา 3 เดือน | สเปคดี ราคาโดนใจ ก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของ Pixel 50

ส่วนเกมที่ไม่ได้ถูก Optimize มาก็มีบางเกมที่สามารถปรับกราฟิกได้เต็มที่และไม่โดนล็อค FPS ด้วย อย่างเช่น Genshin Impact ที่ปรับเลือกกราฟิกต่าง ๆ ได้แบบปกติ (แต่จะเล่นไหวไหมนั้นอีกเรื่อง) และมีบางช่วงที่ FPS ขึ้นไปแตะที่ 60 FPS ด้วย (ใช้คำว่าแตะนะครับ) สำหรับเกมนี้ถ้าปรับเต็มที่แล้วเล่นเฟรมเรทก็จะแกว่งมากอยู่ที่ 30-50 FPS และเครื่องร้อนพอสมควรแม้จะเล่นไปได้แค่แป๊บเดียว (ถ้าเล่นนานกว่านี้เฟรมเรทอาจจะร่วงได้อีก) หรือถ้าปรับกราฟิกที่ระดับกลาง ๆ และปรับบางอย่างต่ำ ๆ ไว้เฟรมเรทก็จะวิ่งอยู่ที่ประมาณ 50-55 FPS ซึ่งถ้าหากใครที่อยากเล่นเกมนี้จริง ๆ ก็คงต้องยอมปรับกราฟิกแค่ต่ำ-กลางและตั้งค่าล็อคไว้ที่ 30 FPS จะดีสุด เพราะถ้าเปิด 60 FPS คือเฟรมเรทแกว่งแน่นอน

รีวิว Google Pixel 6 หลังใช้งานมา 3 เดือน | สเปคดี ราคาโดนใจ ก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของ Pixel 52

แถมให้อีกเกมคือ Minecraft ซึ่งเป็นหนึ่งในเกมที่ Optimize มาสำหรับ Pixel 6 นั้นสามารถเล่นได้เกิน 60 FPS แบบสบาย ๆ แต่เฟรมเรทนั้นก็มีการขึ้น ๆ ลง ๆ ไปตามรายละเอียดของสภาพแวดล้อม แต่โดยรวมแล้วก็ยังเล่นได้แบบ 60 FPS+ อยู่

รีวิว Google Pixel 6 หลังใช้งานมา 3 เดือน | สเปคดี ราคาโดนใจ ก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของ Pixel 54

ไหน ๆ พูดถึงประสิทธิภาพการเล่นเกมแล้วก็ขอพูดถึง Game Dashboard สักหน่อย Game Dashboard เป็นฟีเจอร์ที่มีไว้เพื่อสนับสนุนการเล่นเกมให้ดียิ่งขึ้น มีลักษณะเป็นอินเตอร์เฟซที่ซ้อนทับกับหน้าจอเกมเมื่อเรียกใช้งาน จะมีความสามารถด้วยกันหลัก ๆ ด้วยกัน 7 อย่างคือ

  • ปุ่มลัดเพื่อแคปหน้าจอ
  • ปุ่มลัดเพื่ออัดวิดีโอหน้าจอ
  • แสดงค่า FPS
  • เปิดโหมด Do Not Disturb เมื่อเข้าเกม
  • Optimize ให้เกมเล่นได้เต็มประสิทธิภาพ (สำหรับเกมที่ถูก Optimize มา และไม่ใช่ว่าเกมที่ถูก Optimize มาสำหรับ Pixel 6 จะสามารถตั้งค่าในส่วนนี้ได้ทั้งหมด เพราะ Optimize ใน Game Dashboard จะปรับที่ Settings ของเกมอีกที ถ้าเกมไหนที่ Optimize มาแต่ไม่มีกราฟิกให้ปรับมากมายก็จะสามารถเลือกในส่วนนี้ได้แค่ Standard หรือ Battery Saver เท่านั้น)
  • สตรีมผ่าน YouTube Live
  • เชื่อมต่อกับ Google Play Games
รีวิว Google Pixel 6 หลังใช้งานมา 3 เดือน | สเปคดี ราคาโดนใจ ก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของ Pixel 56

Game Dashboard ไม่ใช่เรื่องใหม่ของผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟน Android แบรนด์อื่น ๆ แต่อย่างใด แต่สำหรับ #TeamPixel แล้วนี่เป็นเรื่องที่ใหม่มาก เพราะ Android ได้ปูทาง Game Mode มาเป็นเวลานานมากแล้วและพึ่งมาเปิดให้ใช้งานแบบจริงจังใน Android 12

รีวิว Google Pixel 6 หลังใช้งานมา 3 เดือน | สเปคดี ราคาโดนใจ ก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของ Pixel 58
สำหรับเกมที่ถูก Optimize มาถึงจะสามารถเข้ามาปรับตรงนี้ได้ แต่บางเกมที่ถูก Optimize มาก็ไม่สามารถเลือก Performance ได้เพราะยังไม่รองรับการเล่นที่มากกว่า 60 FPS นั่นเอง

แม้ว่าชิป Google Tensor จะเป็นอะไรที่ใหม่มาก แต่ในเบื้องต้นยังไม่เจอเกมไหนที่ไม่สามารถเล่นบน Pixel 6 ได้ สำหรับการเล่นเกมขอสรุปแบบสั้น ๆ ว่า Pixel 6 ไม่ใช่เทพในด้านการเล่นเกม แต่ก็สามารถเล่นเกมได้ในระดับที่ดี-ดีมาก เอาเป็นว่าคุณผู้อ่านสามารถดูรายชื่อเกมที่ Optimize มาสำหรับ Pixel 6 ได้ที่นี่เลย จะได้พิจารณากันได้ว่าเกมที่เราเล่นนั้นถูก Optimize มาให้เข้ากับ Pixel 6 หรือไม่

ฮาร์ดแวร์กล้องใหม่ พร้อม AI ที่เจ๋งกว่าเดิม

เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่เลยสำหรับเรื่องกล้องของ Pixel เพราะ Google ไม่ได้เปลี่ยนเซ็นเซอร์กล้องให้ Pixel มาถึง 3 รุ่นแล้ว ย้อนไปในปี 2016 Google เปิดตัว Pixel รุ่นแรกมาพร้อมกับกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ IMX378 และเปลี่ยนมาเป็น IMX362 ใน Pixel 2 ในรุ่นต่อมาอย่าง Pixel 3 ก็ได้เปลี่ยนไปใช้ IMX363 ที่มีการเปลี่ยนแปลงจาก IMX362 เล็กน้อย (สเปคพื้นฐานก็คือเหมือนกันเป๊ะ) แล้วก็ลากใช้ IMX363 ยาวมาจนถึง Pixel 5 ซึ่งพัฒนาแล้วพัฒนาอีกจนสุดขีดความสามารถของเซ็นเซอร์แล้ว พอมาถึง Pixel 6 ก็ได้โบกมืออำลาเซ็นเซอร์กล้องหลักที่ใช้บริการค่าย Sony มาโดยตลอดและหันมาใช้ ISOCELL GN1 จากค่าย Samsung เป็นเซ็นเซอร์กล้องหลักแทน

รีวิว Google Pixel 6 หลังใช้งานมา 3 เดือน | สเปคดี ราคาโดนใจ ก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของ Pixel 60

แต่ Google ก็ยังคงเป็น Google จะให้ใช้ฮาร์ดแวร์ที่ล้ำหน้ากว่าชาวบ้านก็คงจะเป็นไปได้ยาก ถึงแม้ว่า ISOCELL GN1 จะเป็นของใหม่สำหรับ Pixel แต่ก็ไม่ใช่เซ็นเซอร์ที่ใหม่อะไรสำหรับตลาดสมาร์ทโฟน เพราะนี่เป็นเซ็นเซอร์กล้องที่ถูกใช้ใน Meizu 18 Pro, Tecno Phantom X, Vivo X50 Pro+, Vivo X60 Pro+, Vivo X70 Pro+ และ Vivo iQOO 5 กับ 5 Pro นั่นเอง

รีวิว Google Pixel 6 หลังใช้งานมา 3 เดือน | สเปคดี ราคาโดนใจ ก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของ Pixel 62
ISOCELL GN1

ถึง Google จะไม่ได้ใช้เซ็นเซอร์กล้องที่ใหม่ล่าสุดในช่วงเวลานี้ แต่เซ็นเซอร์ที่ใส่มานั้นก็เปิดโอกาสให้ซอฟต์แวร์ของกล้องได้มีความสามารถใหม่ ๆ จากรุ่นก่อนหน้า เซ็นเซอร์ ISOCELL GN1 นั้นสามารถรับแสงได้มากกว่า IMX363 ที่ใช้ใน Pixel 5 ถึง 150% และโฟกัสได้ไวขึ้น ถึงแม้ว่าความละเอียดเต็ม ๆ ของเซ็นเซอร์นี้จะอยู่ที่ 50 MP แต่ใน Pixel 6 นั้นจะบังคับให้รวมแสงจาก 4 พิกเซลเป็น 1 พิกเซลตลอดเวลา ทำให้ภาพถ่ายที่ได้จากกล้องหลักของ Pixel 6 จะอยู่ที่ 12.5 MP นั่นเอง

รีวิว Google Pixel 6 หลังใช้งานมา 3 เดือน | สเปคดี ราคาโดนใจ ก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของ Pixel 64
หมายเหตุ: Pixel 6 ใช้เซ็นเซอร์หลักตัวเดียวกับ Pixel 6 Pro

นอกจากกล้องหลักแล้ว Pixel 6 ยังมาพร้อมกับกล้อง Ultrawide ความละเอียด 12 MP อีกด้วย ตามมาตรฐานของสมาร์ทโฟนในยุคนี้ที่อย่างน้อย ๆ ก็จะมีกล้อง Wide และกล้อง Ultrawide มาให้ สำหรับกล้อง Wide นั้นจะสามารถซูมได้สูงสุด 7x ถ้าหากคุณอยากซูมได้ไกลกว่านี้ก็มี 2 ทางเลือกคือซื้อเลนส์เทเลเสริม หรือไม่ก็ซื้อ Pixel 6 Pro ไปเลย

โหมดเกี่ยวกับการถ่ายภาพที่เป็นของใหม่แบบจริงจังเลยในรุ่นนี้ก็คือโหมด Motion ที่จะมีอีก 2 โหมดย่อย คือ Action Pan กับ Long Exposure ที่จะช่วยทำให้ภาพดูมีชีวิตชีวา ดูมีการเคลื่อนไหวมากขึ้นโดยที่เราไม่ต้องออกแรงเยอะเพื่อให้ได้ภาพแต่อย่างใด สำหรับโหมด Action Pan นั้นเมื่อเราถ่ายวัตถุที่มีการเคลื่อนไหวและเป็นจุดสนใจของรูป ตัววัตถุที่กำลังเคลื่อนไหวจะออกมาชัดแต่ภาพพื้นหลังจะดูมีความเคลื่อนไหว ในขณะที่ Long Exposure นั้นจะทำให้วัตถุที่เคลื่อนไหวอยู่ในภาพดูมีความเคลื่อนไหวเหมือนเวลาที่เปิดหน้ากล้องเป็นเวลานาน ๆ แต่สำหรับโหมด Motion ไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานขนาดนั้น แค่ถ่ายภาพที่มีการเคลื่อนไหวเพียงไม่กี่วินาทีตัวกล้องก็จะคำนวณให้เสร็จสรรพว่าวัตถุในภาพควรจะเคลื่อนไหวแบบไหน

ในส่วนของฟีเจอร์เกี่ยวกับการถ่ายภาพนิ่งที่ช่วยให้ภาพออกมาดูดีขึ้นก็จะมี

Face Unblur ที่เวลาถ่ายภาพคนขณะกำลังเคลื่อนไหวจะมีการถ่ายภาพจากทั้งกล้อง Wide และ Ultrawide ก่อนที่จะนำภาพจากทั้ง 2 กล้องมารวมเข้าด้วยกันแล้วปรับไม่ให้หน้าคนเบลอ

Real Tone เป็นฟีเจอร์ที่ Google ปรับจูนโมเดลและอัลกอริทึมของกล้องเพื่อให้ถ่ายภาพคนที่มีสีผิวแตกต่างกันไปตามแต่ละเชื้อชาติให้ออกมาดูดีในแบบของตัวเอง

Magic Eraser อันนี้ไม่เชิงว่าเป็นฟีเจอร์ของกล้องซะทีเดียว แต่จะอยู่ใน Google Photos ที่ติดตั้งบน Pixel 6 เอาไว้สำหรับลบคนและวัตถุอื่น ๆ ที่ไม่ต้องการออกจากภาพ

รีวิว Google Pixel 6 หลังใช้งานมา 3 เดือน | สเปคดี ราคาโดนใจ ก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของ Pixel 70

สำหรับในส่วนของกล้องนั้นผมจะขอสรุปเป็นข้อ ๆ แบบไม่ยาวมากพร้อมแปะภาพตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ดูแล้วกันครับ เพราะว่าเคยรีวิวกล้องแบบละเอียดไปแล้วในบทความพา Google Pixel 6 ออกทริปถ่ายรูปแบบเบา ๆ รูปจะออกมาสวยถูกใจไหมมาดูกัน และ Astrophotography Tips ถ่ายดาวด้วย Google Pixel แบบง่าย ๆ ใน 7 ขั้นตอน ถ้าอยากได้รายละเอียดเกี่ยวกับกล้องเพิ่มเติมก็สามารถเข้าไปอ่านใน 2 บทความนั้นได้เลย

สรุปเรื่องกล้องของ Pixel 6

จุดที่ไม่ชอบ

  • การถ่ายภาพในที่แสงน้อยด้วยโหมดออโต้ยังไม่ดีเท่าที่ควร
  • โหมด Portrait มีโอกาสตัดขอบภาพผิดพลาดมากกว่ารุ่นก่อน ๆ ถ้าหากวัตถุที่เป็นจุดสนใจอยู่ใกล้กับฉากหลัง แต่ถ้าใช้โหมดนี้ถ่ายวัตถุก็ยังทำได้ดีเช่นเคย
  • ถึงแม้ว่า Google จะถอดปุ่ม HDR+ ออกไปหลายรุ่นแล้วและเครื่องจะคำนวณให้เองว่าควรใช้สถานการณ์ไหนบ้าง แต่ถ้ามีให้เลือกเปิดปิดด้วยตัวเองเหมือนสมัยก่อนก็จะดีมาก
  • ไม่แสดงผลเอฟเฟกต์การเบลอให้ดูในขณะที่กำลังถ่ายด้วยโหมด Portrait

จุดที่ชอบ

  • กล้องยังคงเอกลักษณ์ของ Pixel เอาไว้ได้เป็นอย่างดี แม้ว่าเซ็นเซอร์ตัวใหม่จะมีความแตกต่างกับรุ่นก่อน ๆ มากก็ตาม
  • สำหรับโหมด Night Sight ก็ยังคงทำได้ยอดเยี่ยมเช่นเคย
  • โหมดถ่ายดาวคือดีมาก
  • ฟีเจอร์ Real Tone กับ Face Unblur คือดีมาก ถ่ายคนแล้วดูดีในแบบที่ควรจะเป็น เป็นสมาร์ทโฟนที่ถ่ายภาพคนออกมาแล้วมีรูปเสียน้อยมาก
  • กล้องจับโฟกัสที่หน้าคนได้ดีและไว
  • ชอบฟีเจอร์ Frequent Faces ที่จะช่วยเน้นหน้าคนที่เราถ่ายภาพบ่อย ๆ จะทำให้สกินโทนออกมาตรงขึ้นเมื่อถ่ายภาพ Top Shot
  • กล้องหลักสามารถซูมได้ไกล 3-4x โดยที่รายละเอียดของภาพยังคงดูดีอยู่ (ซูมได้ไกลสุดคือ 7x)
  • ถึงแม้ไม่มีโหมดมาโครมาให้ แต่การถ่ายภาพที่ระยะใกล้ ๆ แล้วซูมเพิ่มเข้าไปก็สามารถเก็บรายละเอียดของวัตถุได้ดี
  • ฟีเจอร์ Magic Eraser ลบวัตถุออกจากภาพได้ดีกว่าที่คาดไว้ สำหรับรูปที่ไม่ได้มีรายละเอียดซับซ้อน ถ้าไม่มีภาพต้นฉบับให้เทียบคือสังเกตยากมาก
  • โหมด Motion ที่ถึงแม้ว่าจะอยู่ในสถานะเบต้า แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับดีจนน่าประทับใจ
  • การถ่ายวิดีโอที่ดีขึ้นจากรุ่นก่อน ๆ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เทพถึงระดับ iPhone แต่ก็ได้คุณภาพและสีสันที่สวยน้อง ๆ กับการถ่ายภาพนิ่ง และภาพนิ่งที่ดึงออกมาจากวิดีโอก็สวยในระดับที่น่าประทับใจ เหมือนกับที่ Google ได้โฆษณาไว้
  • เมนูการถ่ายไทม์แลปส์มีคำอธิบายว่าความเร็วเท่าไหร่เหมาะกับสถานการณ์ไหน ทำให้ตัดสินใจเลือกได้ง่ายขึ้น
รีวิว Google Pixel 6 หลังใช้งานมา 3 เดือน | สเปคดี ราคาโดนใจ ก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของ Pixel 84

จุดที่ตัดสินใจไม่ได้ว่าชอบหรือไม่ชอบ

  • รู้สึกว่าเป็นกล้องมือถือที่มี Depth of Field แคบไปหน่อย ข้อดีคือถ่ายแล้วเบลอหลังสวยโดยไม่ต้องใช้โหมด Portrait ช่วย แต่ถ้าต้องถ่ายวัตถุที่อยู่ซ้อน ๆ กันก็จะเก็บรายละเอียดให้หมดได้ยาก
  • กล้องหน้า อันนี้เป็นจุดที่มีคนบ่นกันเยอะและถูกนำไปเทียบกับ Pixel 3 เยอะมาก ผมเองก็ไม่รู้จะคอมเมนต์อะไรมากเพราะไม่ใช่สายเซลฟี่ซะด้วย แต่เท่าที่ผมทดสอบมาคือกล้องหน้าของ Pixel 6 ปรับ White Balance และสกินโทนได้ดีกว่า Pixel 3 เมื่อถ่ายภายในอาคาร แต่นอกนั้น Pixel 3 ก็ทำได้ดีไม่แพ้ Pixel 6 แม้จะออกมาก่อนถึง 3 รุ่น เอาเป็นว่ากลาง ๆ ละกันครับ ไม่ได้พัฒนาจากรุ่นก่อน ๆ มาก ไม่ได้ดีเด่นอะไร แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นเลวร้าย

ภาพจากกล้องระยะต่าง ๆ

ตัวอย่างภาพจากกล้องของ Pixel 6

เปรียบเทียบกล้องหน้าระหว่าง Pixel 3 XL กับ Pixel 6

รีวิว Google Pixel 6 หลังใช้งานมา 3 เดือน | สเปคดี ราคาโดนใจ ก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของ Pixel 156

All-day แบตเตอรี่ ที่พอซอฟต์แวร์เข้าที่แล้วทนใช้ได้

ความประหยัดพลังงานเป็นหนึ่งในจุดเด่นที่ Google ชูว่าชิป Google Tensor สามารถทำได้ดี สำหรับแบตเตอรี่ของ Pixel 6 นั้นมีความจุอยู่ที่ 4614 mAh ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรในยุคนี้ และในช่วง 2 เดือนแรกนั้นแบตเตอรี่ก็ไม่ได้มีความทนทานอะไรมากมายจนน่าตื่นเต้น (แต่ก็ยังรอดจากการใช้งานระหว่างวันได้) จนกระทั่งหลังจากได้รับการอัปเดตซอฟต์แวร์เดือนมกราคมเข้าไปเท่านั้นแหละ ถึงได้รู้สึกว่าแบตทนสมกับคำโฆษณาสักที หลังจากที่ใช้งานจนรู้สึกว่าเป็นจังหวะที่ซอฟต์แวร์เข้าที่เข้าทางดีแล้วก็เลยลองชาร์จแบตจนเต็มแล้วเก็บข้อมูลการใช้งานดูแบบจริงจัง การใช้งานของผมก็คือเน้นเล่นแอปโซเชียลเป็นหลัก ใช้กล้องกับดูแอปสตรีมมิ่งนิดหน่อย เปิดใช้งานแทบทุกฟีเจอร์อำนวยความสะดวก เปิดใช้งาน Gesture เกือบทั้งหมด (ยกเว้นแตะฝาหลังกับโหมดใช้งานมือเดียว) เปิด Auto-rotate แบบ Face Detection และเปิด Dark Theme เฉพาะตอนดวงอาทิตย์ตกดิน ซึ่งได้ผลออกมาตามกราฟด้านล่างนี้ครับ

Google Pixel 6 Battery usage - 1

ลองรวมเวลาแบบคร่าว ๆ ก็คือมีการเปิดหน้าจอนานเกือบ 9 ชั่วโมง (ลองบวกเองแบบคร่าว ๆ อยู่ที่ประมาณ 8 ชั่วโมง 50 นาที ก็ไม่คลาดเคลื่อนจากที่ระบบรวมให้เท่าไหร่) เริ่มใช้งานจากแบต 100% ประมาณตอนเที่ยง จนถึงเวลา 02:48 ของอีกวันเหลือแบตอยู่ 15% ถ้าให้เทียบกับแบรนด์อื่นผมคงตอบไม่ได้ว่าเจ้า Pixel 6 นั้นแบตอึดกว่าชาวบ้านมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าใช้งานแบบคนที่ทำงานเป็นเวลา ไม่ได้เล่นมือถือทั้งวันก็ถือว่าแบตเตอรี่ของ Pixel 6 เพียงพอต่อการใช้งานครับ

Google Pixel 6 Battery usage - 2

ในส่วนของความไวในการชาร์จนั้น Pixel 6 ไม่ได้มีระบบชาร์จไวที่โดดเด่นอะไรนักเมื่อเทียบกับแบรนด์อื่น ๆ ใช้กำลังไฟสูงสุดในการชาร์จอยู่ที่ 21 W และเนื่องจาก Google เองไม่ยอมแถมอุปกรณ์ชาร์จมาให้เลยเอาชุดชาร์จของ iPad Pro 11″ รุ่นที่ 2 มาลองชาร์จดูเลยก็แล้วกัน (กำลังไฟสูงสุด 18 W รองรับ USB Power Delivery) ซึ่งจากการที่สังเกตหลาย ๆ รอบนั้นถ้าเริ่มชาร์จจากช่วง 20-30% ก็จะใช้เวลาราว ๆ 2 ชั่วโมงถึงจะเต็มครับ

เก็บตกเรื่องที่เหลือ พร้อมสรุปในภาพรวม

สำหรับเรื่องอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้พูดไปข้างต้นก็จะมี

  • ลำโพง – ด้วยความที่หูไม่เทพเลยบอกไม่ได้ว่าแบบนี้คือเสียงดีหรือไม่ดี แต่ในส่วนที่พอสังเกตได้ด้วยตาก็คือการปรับระดับเสียง ถ้าหาก Pixel 6 ปรับระดับเท่ากับสมาร์ทโฟนรุ่นอื่น ๆ ก็จะเสียงไม่ดังเท่า จะไปดังพอ ๆ กับชาวบ้านก็ช่วงที่ปรับใกล้สุดแล้ว และ UI การเพิ่มลดเสียงก็ออกแบบมาได้งงมากว่าตอนนี้กำลังปรับอยู่ที่ระดับไหนกันแน่
  • ส่วนลำโพงขณะสนทนากับไมค์คุยโทรศัพท์ก็ทำได้ดีตามมาตรฐานของสมาร์ทโฟนในยุคนี้
  • เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ – หลังจากที่ผ่านซอฟต์แวร์อัปเดตมาแล้วก็ถือว่าสแกนลายนิ้วมือเร็วขึ้นกว่าแรก ๆ แต่ถ้าเทียบกับแบรนด์อื่นก็คือช้ากว่าเหมือนกับว่า Google หยิบเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือใต้จอยุคแรกมาใช้ และเมื่อปลดล็อคกลางแจ้งเวลาแดดจ้ามาก ๆ ก็จะติดยากกว่าปกติในบางครั้ง (อาจเป็นเพราะว่าใช้เซ็นเซอร์แบบ Optical ด้วย ไม่รู้ว่าแบรนด์อื่นที่ใช้แบบนี้เป็นมั้ย)
รีวิว Google Pixel 6 หลังใช้งานมา 3 เดือน | สเปคดี ราคาโดนใจ ก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของ Pixel 172
  • การพิมพ์ด้วยเสียงในภาษาอังกฤษใส่เครื่องหมายวรรคตอนให้อัตโนมัติได้ค่อนข้างแม่นยำ
  • ฟีเจอร์ Live Caption ใช้งานได้จริง แต่ยังรองรับไม่กี่ภาษา
  • ถ่าย Instagram Story ได้ดีกว่าสมาร์ทโฟน Android แบรนด์อื่น ๆ รองรับการใช้กล้อง Ultrawide ในการถ่ายสตอรี่เช่นเดียวกับ iPhone

Google Pixel 6 เป็นจุดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ Pixel และให้ผลลัพธ์ออกมาได้ดีกว่าที่คาดหวังไว้ ชิป Google Tensor ที่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้แรงในด้านตัวเลข แต่ก็ถือว่ามีจุดเด่นของตัวเองในด้านการประมวลผล AI ชิป Google Tensor สามารถตอบสนองต่อการใช้งานในชีวิตประจำวันได้ดีแบบที่ไม่มีปัญหาติดขัดอะไร ยังไม่เจอแอปไหนที่ใช้งานไม่ได้เพราะชิปไม่รองรับ จากที่ได้เห็นเวอร์ชันแรกใน Pixel 6 แล้วก็เชื่อว่าในรุ่นต่อ ๆ ไปจะดีขึ้นเรื่อย ๆ อย่างแน่นอน สำหรับเรื่องกล้องมีการเปลี่ยนแปลงจากรุ่นก่อนหน้ามากกว่าครั้งที่ผ่าน ๆ มาและได้คุณสมบัติใหม่ ๆ มาเสริมทัพให้ดียิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีลูกเล่นของกล้องที่แพรวพราวเหมือนกับแบรนด์อื่น ๆ แต่ฟีเจอร์กล้องแบบ Pixel 6 ก็หาไม่ได้จากแบรนด์อื่นเช่นกัน ในส่วนของเรื่องที่ใช้งาน 5G, VoLTE กับ VoWiFi ในไทยไม่ได้นั้นผมไม่มองว่าเป็นข้อเสียจากเครื่องโดยตรง เพราะ Google ไม่ได้นำ Pixel 6 มาวางจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

รีวิว Google Pixel 6 หลังใช้งานมา 3 เดือน | สเปคดี ราคาโดนใจ ก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของ Pixel 174

นอกจากความดีงามที่ว่ามาแล้ว Google Pixel 6 ยังมีความคุ้มค่าในเรื่องราคาอีกด้วย เปิดราคามาได้ถูกมากเมื่อเทียบกับรุ่นก่อน ๆ หน้า ซึ่งผมเองอยากให้ Google รักษามาตรฐานนี้ต่อไป เพราะจะได้มีตัวเลือกให้กับคนที่อยากได้รุ่นที่สเปคดีกว่ารุ่น a อยากได้ชิปแรงในระดับเรือธง แต่ก็ไม่ได้ต้องการสเปคที่สุดเหมือนกับรุ่น Pro อย่างไรก็ตามผมคิดว่าการที่ Pixel 6 Series นั้นมีขนาดหน้าจอให้เลือกเพียง 6.4 กับ 6.7 นิ้วดูจะมัดมือชกคนที่ไม่ได้ชอบสมาร์ทโฟนจอใหญ่ขนาดนี้ไปหน่อย ถ้าเกิดว่าอนาคต Pixel ได้รับความนิยมมากขึ้นและ Google มองว่าคุ้มค่าที่จะลงทุนเพิ่มเพื่อขยายฐานลูกค้า ก็อยากให้ Google พิจารณาทำ Pixel รุ่นที่มีขนาดจอสัก 6.1 นิ้วออกมาขาย แล้วให้รุ่นที่จอใหญ่กว่านั้นเป็นรุ่น XL ไป หรือทางที่ดีคือมีรุ่นที่จอขนาดไม่ใหญ่มากกับรุ่น XL ให้เลือกทั้งรุ่นธรรมดาและรุ่น Pro ไปเลยจะดีมาก

สรุปแบบสั้น ๆ อีกรอบ Google Pixel 6 เป็น Pixel ที่มีการพัฒนาอย่างน่าประทับใจ มีราคาที่คุ้มค่า ซื้อมาแล้วไม่เสียดายเงิน หวังว่า Google จะรักษามาตรฐานแบบนี้เอาไว้ได้ตลอดไป

Pixel Society
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments